จิตพัก

จิตพัก
(ธรรมะโดยพระครูโพธิธรรมประภาส หรือพระอาจารย์เชือน ปภัสสโร วัดประชาสันติ)

การภาวนา พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ จนจิตมันสงบได้ที่ของมันแล้ว อย่างที่เคยบอก บางทีมันก็จะมีการหลบในนะ คือเวลามันสงบแล้วแทนที่มันจะสอดส่องไปพิจารณากาย พิจารณาธาตุขันธ์ มันไม่ทำ มันพักอยู่เฉยๆ ของมัน แต่สติยังรู้อยู่ตลอด แต่ไม่ทำอะไร นี่คือจิตหลบใน มันก็พักของมันบ้างสิ เหมือนร่างกายของคนเรานี่แหละ ทำงานมาหนักแล้วถึงจุดๆ หนึ่งมันก็ต้องพัก พักเพื่อที่จะเก็บแรงแล้วทำงานต่อไป อันนี้เหมือนกันกับจิตเราแหละนะ จิตมันกว่าจะสงบได้มันก็หนักเหมือนกัน ทีนี้มันก็ต้องพักเหมือนกัน ไม่ต้องไปกังวล ปล่อยมันไป ให้มันพัก ทีนี้พอมันอิ่มตัวแล้วมันก็จะออกมาพิจารณาตามเรื่องของมันอีก อันนี้ให้พากันเข้าใจ อย่าไปวิตก มันเป็นของมันอย่างนี้แหละ มันพักแล้วมันก็ออกมาพิจารณาอีก วนไปๆ อยู่ สลับไปแบบนี้แหละ

แต่ทีนี้ที่ต้องระวังคือดูตัวเราก่อน คือเวลาร่างกายเราได้พักนี่ ไม่ต้องทำงานเราก็ชอบ ชอบพักนานๆ ไม่อยากออกทำงาน อันนี้นี่อันตราย จิตก็เหมือนกัน บางคนพอจิตมันเข้าพักแล้วชอบ ติดสมาธิตรงนั้นเพราะมันสบาย มันไม่ต้องทำอะไร นิ่งอยู่เฉยๆ ก็ไม่อยากให้จิตมันออกมาพิจารณา นี่สำคัญ ถ้ามันเริ่มติดก็ต้องรู้ทันมัน พยายามบังคับมันให้ได้ อย่างพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่บอกว่าต้องชำนาญในการเข้าสมาธิ ต้องชำนาญในการออกสมาธิ คือตรงนี้แหละ เวลาจิตมันพัก ถึงจุดก็ต้องเอามันออกมาได้ อันนี้สำคัญอยู่อันหนึ่ง

พระอริยเจ้าเวลาท่านพักนี่ ไม่เหมือนพวกเราพัก พวกเราต้องนอนหลับกันเจ็ดแปดชั่วโมง แต่ท่านกำหนดจิต ให้จิตเข้าสมาธิเพื่อพักจิต แต่มีสติรู้ตัวอยู่ตลอด ให้จิตนิ่ง ลึกลงไป ให้พักผ่อน ไม่ต้องหลับเหมือนพวกเรา พักไม่ต้องนานก็พอ เพราะของท่านหลับจริง ของเราๆ นี่หลับกันไม่จริง อย่างที่ว่าแหละ หลับแล้วฝันโน่นฝันนี่อยู่เรื่อย ฝันแล้วทีนี้ถ้าฝันไม่ดี ก็เดือดร้อนพระเจ้าอีก มากันใหญ่ สะเดาะเคราะห์บ้างอะไรบ้าง ว่ากันไปใหญ่  ทั้งๆ ที่ใจมันสร้างขึ้นมาหลอกแค่นั้นเอง อันนี้ยังดี ฝันไม่ดีแล้วเข้าวัด ตัวฝันดีนี่น่ากลัว แทงหวยแทงเบอร์กันอีก เดือดร้อนกันไปใหญ่ อันนี้ให้พากันเข้าใจเรื่องจิต และใจไว้ เวลาปฎิบัติจริงจะได้ไม่ตกใจ ไม่กังวล

คัดลอกมาจากหนังสือ…นานาสาระธรรม
เรียบเรียงข้อมูลโดย…นายกวิน ตันทวีวงศ์ (จากธรรมะที่ได้รับฟังมา และรวบรวมไว้ในภายหลัง)

You May Also Like